วัดนันตาราม ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตามที่เราหาข้อมูลมาไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากหลักฐานและสถาปัตยกรรมต่างๆภายในวัดทำให้คาดว่าน่าจะสร้างโดยชุมชนชาวไทใหญ่ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า จองคา โดย จอง แปลว่าวัด ส่วน คา คือหญ้าที่ใช้มุงเป็นหลังคา รวมกันเป็น จองคา หรือวัดที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคานั่นเอง


        ในปี พ.ศ. 2468 พ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์ คหบดีผู้มีจิตศรัทธาต้องการจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจึงได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์จองคาครั้งใหญ่ และได้จ้างช่างชาวพม่าจากจังหวัดลำปางมาออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารหลังใหม่แทนที่วิหารหลังเดิมที่มุงด้วยหญ้าคา การก่อสร้างวิหารและการบูรณะปฏิสังขรณ์จองคาใช้เวลาร่วม 10 ปี ภายหลัง จองคา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดนันตาราม เพื่อเป็นการระลึกถึงพ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์


        วิหารหลังใหม่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ผสมพม่า หลังคา หน้าบัน ระเบียง ผนัง กำแพง หลังคา ทุกส่วนของวิหารสร้างด้วยไม้สักที่ผ่านการแกะสลักและฉลุลวดลายสวยงาม ตกแต่งด้วยสีเหลืองทองแทนการใช้ทองคำ และเพดานประดับตกแต่งด้วยกระจกสีต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทใหญ่ทั้งสิ้น พระประธานก็แกะสลักจากไม้สักทั้งต้นเช่นกัน


        อย่างไรก็ตาม วัดนันตาราม เป็นวัดที่ผ่านช่วงประวัติศาสตร์มายาวนาน ว่ากันว่าศิลปะต่างๆภายในวัดตอนนี้นอกจากจะเป็นศิลปะไทใหญ่แล้ว ยังผสมผสานทั้งศิลปะพม่า ศิลปะล้านนา และยังมีศิลปะแบบตะวันตกปะปนอยู่ด้วย

        ในฐานะที่เราเป็นคนมีการศึกษาน้อย ความรู้ในเรื่องโบราณคดี ศิลปะวัฒนธรรมของเรามีแค่หางอึ่ง เราก็คงไม่กล้าอธิบายอะไรมาก แต่จากความรู้สึกของเราในฐานะนักท่องเที่ยวคนนึงต้องขอบอกว่าสวยและทรงคุณค่ามากๆ นอกจากความสวยงามของสิ่งก่อสร้างแล้ว มนต์เสน่ห์ของศิลปะแบบไทใหญ่ที่สะกดคนจำนวนมากก็คงไม่พ้นบรรยากาศความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ พูดไม่ถูกเหมือนกัน ไม่รู้จะพูดยังไง คือไม่ได้น่ากลัวแบบบ้านผีสิงอะไรแบบนั้นนะ วัดนันตารามปัจจุบันอยู่ท่ามกลางชุมชน อยู่กลางเมือง แต่มันเต็มเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ
        สุดท้าย ถ้าคุณชื่นชอบงานศิลปะรูปแบบนี้ วัดนันตาราม เป็นสถานที่ที่คุณควรไปซักครั้งในชีวิตจริงๆ